กีฬาเพื่อชีวิต : โปรแกรมในการพัฒนานักกีฬาระยะยาว Sports for Life: Long Term Athletes Development LTAD

การจะก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจทางด้านกีฬาของโลก นั้น จำเป็นต้องมีกรอบการพัฒนาอย่างเป็นระบบ Framework วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาโปรแกรมการพัฒนานักกีฬาในระยะยาว Long Term Athletes Development Program ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับการพัฒนานักกีฬาในระยะยาวของประเทศแคนนาดา

และโมเดลนี้ถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายสหพันธ์กีฬาและประเทศต่างๆ ซึ่งสาระสำคัญของโปรแกรมนั้น อ่านไปอ่านมาก็ไม่ได้อยู่ที่นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ แต่สาระสำคัญ กลับให้ความสำคัญกับ วิถีชีวิตที่ต้องมีการออกกำลังกาย เล่นกีฬาตลอดชีวิต ของประชากรในประเทศ โดยมีระบบพัฒนานักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และระบบคัดเลือกนักกีฬาที่มีศักยภาพสูง อยู่ภายในระบบของ LTAD อีกทีนึง ซึ่ง LTAD นั้นอยู่ภายใต้หน่วยงานของประเทศแคนนาดา ที่ใช้ชื่อว่า Sport for Life กีฬาเพื่อชีวิตที่ดี ดังนั้น การที่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชากรในประเทศ สามารถมีกิจกรรมกีฬา การออกกำลังกายไปตลอดชีวิต จึงเป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยองค์กรนี้เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 หลังจากนั้นรัฐบาลของแคนนาดา ก็มองเห็นว่าแนวคิดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการขับเคลื่อนวงการกีฬาและการออกกำลังกาย โดยทำหน้าที่คล้ายกับหน่วยงานในการขับเคลื่อนและสร้างความสัมพันธ์ ในมิติของกีฬา สุขภาพ การศึกษา กิจกรรมนันทนาการ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับชาติ

วันนี้ผมจะเน้นเฉพาะ LTAD เท่านั้นนะครับ โดยในการเข้าสู่ LTAD นั้นทุกคนสามารถเข้าสู่ระบบได้ตั้งแต่เกิดกันเลยทีเดียว
  • Active Start ขั้นแรกของโปรแกรม อายุระหว่าง 0-6 ปี เน้นเกี่ยวกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ที่สนุกสนาน
  • Fundamental: ขั้นแนะนำ ชาย อายุระหว่าง 6-9 ปี หญิง 6-8 ปี เรียนรู้เกี่วกับการเคลื่อนไหวพื้นฐาน การได้ทดลองเล่นหลายๆกีฬาเพื่อค้นหาความชอบ แต่เน้นไปในเชิงของกีฬาที่มีความคล่องแคล่ว การรักษาสมดุลของร่างกาย การทำงานประสานสัมพันธ์กันของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ รวมทั้งกีฬาที่ใช้ความเร็ว (ไม่เน้นกีฬาปะทะ)
  • Learning To Train เรียนรู้สำหรับการฝึกซ้อม ชายอายุระหว่าง 9-12 ปี หญิงระหว่าง 8-11 ปี เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะกีฬา และพัฒนาทักษะเฉพาะสำหรับการเคลื่อนไหว เน้นกีฬาสามประเภท
  • Training to Train เรียนรู้สำหรับการฝึกซ้อม ชายอายุระหว่าง 12-16 ปี หญิงระหว่าง 11-15 ปี เน้นการสร้างความอดทนของร่างกาย พัฒนาความเร็ว และความแข็งแรง เพื่อเตรียมเข้าสู่การแข่งขัน พัฒนาเกี่ยวกับเทคนิคกีฬา เน้นกีฬาสองประเภท
  • Training to Compete ฝึกซ้อมเพื่อแข่งขัน ชายอายุระหว่าง 16-23 ปี ผู้หญิง 15-21 ปี เน้นเกี่ยวกับการปรับปรุงสมรรถภาพทางกายให้มีความจำเพาะเจาะจงสำหรับกีฬา เริ่มที่จะเรียนรู้สำหรับการแข่งขันในระดับนานาชาติ เน้นกีฬาชนิดเดียว
  • Training to win ฝึกซ้อมเพื่อชัยชนะ อายุตั้งแต่ 19 ขึ้นไปในเพศชาย และ 18 ปี ขึ้นไปในเพศหญิง มุ่งเน้นการฝึกซ้อมเฉพาะกีฬา เพื่อก้าวไปสู่ชัยชนะ ในการแข่งขัน เน้นชนิดกีฬาเดียว
  • Active for Life มีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาตลอดชีวิต ช่วงวัยใดก็ได้ หลังจากที่มีความฉลาดทางการเคลื่อนไหวแล้ว สามารถสมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้เพื่อพัฒนา การออกกำลังกายและการเล่นกีฬาตลอดชีวิต ได้
ถ้าเราแบ่งเป็นกลุ่ม ก็จะแบ่งได้เป็นสามกลุ่มหลัก กลุ่มแรก คือ การพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว สร้างความฉลาดในการเคลื่อนไหว (Physical Literacy) อีกกลุ่มนึงจะเป็นการพัฒนานักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ สอนให้รู้จักแนวทางการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ เริ่มมีการพัฒนาทั้งทักษะ เทคนิคอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อสร้างฐานสำหรับการต่อยอดไปสู่กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งจะมีระบบค้นหานักกีฬาทีมีพรสวรรค์ Talented Identification ซ้อนอยู่อีกชั้นนึงในการคัดเลือกนักกีฬาที่มีพรสวรรค์ให้พัฒนาไปจนถึงขั้นสุด นั่นก็คือการฝึกซ้อมเพื่อชัยชนะนั่นเอง แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็สามารถเดินทางไปสู่ปลายทาง เป้าหมายสุดท้ายของประเทศแคนนาดา นั่นก็คือ กรมีการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาตลอดชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับวิชา การเรียนรู้ทักษะกลไก ที่ได้บอกเป้าประสงค์ของการเรียนรู้และพัฒนาทักษะกลไก ไว้นั่นก็คือ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นเอง ที่เป็นหัวใจสำคัญ
แน่นอนว่าประเทศแคนนาดา นั้นเป็นประเทศนึงที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ ความฉลาดทางการเคลื่อนไหว Physical Literacy เป็นอย่างมาก เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการต่อยอดไปสู่กีฬาและการออกกำลังกายตลอดชีวิต เด็กๆ จะรู้สึกว่าเขาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นใจ และควบคุมการเคลื่อนไหว ในกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้ง การออกกำลังกาย กีฬา หรือ แม้กระทั่งการเต้นแบบต่างๆ ล้วนมีพื้นฐานมาจากการเคลื่อนไหวที่ดีและมีประสิทธิภาพแทบทั้งสิ้น นอกจากนั้น ยังมีพบว่า เมื่อเรามีการเคลื่อนไหวที่ดี ความสามารถในการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ก็จะถูกพัฒนาขึ้นด้วย และสามารถเลือกรูปแบบการตอบสนองได้อย่างเหมาะสม ในแต่ละเหตุการณ์ต่างๆ
เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับโปรแกรม เพราะเชื่อว่า กีฬา การออกกำลังกาย จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการพัฒนาทางด้านสุขภาพ ของประชากร ชุมชน สังคม เมื่อประชากรมีสุขภาพที่ดี การจัดบริการสุขภาพก็สามารถทได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้นเพราะประชากรเจ็บป่วยน้อยลง จากโรคกลุ่ม NCDs นั่นเอง ทำให้รัฐบาลสามารถมุ่งเน้นจัดบริการด้านการตรวจรักษาให้กับประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้งบประมาณ เท่าเดิม นอกจากนั้น กีฬายังช่วยพัฒนาทักษะกลุ่ม Soft Skill เช่น การทำงานเป็นทีม การมีน้ำใจนักกีฬา และคุณค่าในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มีความพยายามไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ซึ่งในประเทศแคนนาดานั้น ในระบบเดิมที่มีอยู่ที่มุ่งเน้นแต่เพียงชัยชนะเพียงอย่างเดียว กลับไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศอย่างที่ควรจะเป็นนั่นเอง (ประชาชนไม่ได้อะไร ในขณะที่นักกีฬาประสบความสำเร็จ)
เมื่อเป้าหมายของประเทศมีความชัดเจน ในการสร้าง Eco-System สำหรับกีฬาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ขั้นตอนต่อไปก็คือการสื่อสาร (ย้ำนะครับว่าการสื่อสาร ไม่ใช่การโฆษณา) การส่งสารไปยังหน่วยที่เล็กที่สุดนั่นคือครอบครัวครับ สิ่งที่มีส่วนสำคัญอีกกลไกนึงนั่นก้คือ ผู้ฝึกสอนกีฬา ในการที่เข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาคน มากกว่า การเน้นเกี่ยวกับผลการแข่งขัน สิ่งนี้สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าโค้ชไปคำนึงถึงแต่ผลงาน หรือ ผลการแข่งขัน แทนที่เขาจะไปเน้นเกี่ยวกับทักษะ สมรรถภาพตามวัย กลับต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ได้ชัยชนะ มาก สร้างโปรแกรมฝึกซ้อมที่ไม่เหมาะกับนักกีฬาเพียงเพื่อผลงานของตนเอง สุดท้ายนักกีฬาก็จะเลิกเล่นกลางคัน เพราะเบิร์นเอ้าท์ (หมดไฟ) บาดเจ็บเพราะปริมาณการฝึกซ้อมไม่เหมาะสมกับร่างกายที่จะรับได้ เป็นต้น นอกจากนี้ การที่ให้นักกีฬาสามารถเลือกเล่น ได้ 1 หรือ 2 กีฬา ก็เพื่อการถ่ายโยงทักษะ และได้ผ่อนคลายจากโปรแกรมการฝึกซ้อม หรือ การทำทักษะเพียงอย่างเดียว ทำให้นักกีฬาได้ใช้กล้ามเนื้อ สมรรถภาพ รวมทั้ง ทักษะ ที่หลากหลายออกไป
สำหรับการพัฒนานักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ในทุกสมาคมกีฬา จะมีแผนปฏิบัติการในการพัฒนานักกีฬาของตนเอง แตกต่างกกันไป ตามบริบทของแต่ละกีฬา แต่ไม่หลุดจาก FrameWork ที่สร้างไว้ นั่นเอง นอกจากนี้ ยังมี LTAD MODEL สำหรับนักกีฬาคนพิการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบเช่นเดียวกับคนปกติ ทั้งขั้นแนะนำ การสอนการเคลื่อนไหว ให้กับคนพิการ ทำให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเข้าสู่กระบวนการพัฒนานักกีฬาได้เช่นกัน รวมทั้งการสร้างหลักสูตร Adapted Physical Education สำหรับคนพิการในการเรียนพลศึกษา ซึ่งปัจจุบันหาได้น้อยมาก และโค้ชส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยยอมรับคนพิการให้เข้าร่วมชั้นเรียน ดังนั้นในแคนนาดา จึงมีการระดมผู้เชี่ยวชาญมาสร้างหลักสูตรสำหรับการพัฒนาการเคลื่อนไหวของคนพิการโดยการสอนพลศึกษาแบบ Adapted Physical Education นั่นเอง
ที่เขียนมานี่ก็คือภาพรวมของ Sport For Life ที่เปลี่ยนเป้าหมาย เพื่อประชากรแคนนาดา แต่ก็ยังไม่ทิ้งเป้าหมายในเรื่องกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ สิ่งที่น่าสนใจนั่นก็คือ การทำให้กีฬาเพื่อมวลชน กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ การออกกำลังกาย กิจกรรมนันทนาการ การเรียนการสอนพลศึกษา ในโรงเรียน สามารถเดินไปพร้อมๆ กันได้ภายใต้แผนอันเดียวกันอันนี้ซิเป็นสิ่งที่น่าสนใจ มองต่างประเทศแล้ว ลองมองย้อนกลับมาดูบ้านเรากันดูนะครับ

บทความดีๆ จาก วีณาสปอร์ต